วิธีการจับปลาทู


       การทำประมงปลาทู ชาวประมงจะมีหลีกเลี่ยงการจับในช่วงฤดูมรสุม ได้แก่ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันตกในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกในช่วงเดือนเมษายน-ตุลาคม ซึ่งชาวประมงจะออกจับในวันที่ไม่มีพายุ และฝนตกหนัก เครื่องมือประมงในการจับปลาทูที่มีการใช้ในอดีตจนถึงปัจจุบัน
1. โป๊ะ 
          เป็นเครื่องมือจับปลาทูแบบติดประจำที่ ประกอบจากไม้ไผ่หรือไม้เนื้อแข็งอื่นๆ โดยการปักเสาไม้เป็นรูปวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 50 เมตร แล้วล้อมด้วยเผือกให้แน่นหนา บริเวณปากโป๊ะจะทำการปักปีก หันหน้ารับกระแสน้ำ ปีกมีทั้งหมด 5 ปีก ปีกกลาง และปีกใหญ่เป็นปีกที่ยาวที่สุด บางโป๊ะอาจมีความยาวมากกว่า 500-1000 เมตร การจับด้วยโป๊ะจะทำในวันที่น้ำลง และน้ำขึ้นเต็มที่ โดยใช้อวนโป๊ะรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว 30-300 เมตร ลึก 8-22 เมตร ที่มีทั้งตาห่าง และตาถี่ หลังจากนั้นจะใช้เรือแล่นเข้าในโป๊ะ แล้วสวมอวนด้านหนึ่งแล่นรอบโป๊ะ และไล่อวนเก็บเพื่อจับปลา


ภาพที่ 2 โป๊ะจับปลา
(ที่มา : http://oknation.nationtv.tv/blog/paper-life/2009/10/29/entry-1)

        2. อวนตังเก
    เป็นเครื่องมือจับปลาแบบเคลื่อนที่ประเภทอวนล้อม เริ่มมีใช้ในช่วงปี 2470-2480 โดยชาวประมงจีน และญี่ปุ่น นำเข้ามาจับปลาในประเทศไทย และเริ่มใช้แพร่หลายในชาวประมงไทยในช่วงปี 2480-2500 ถือเป็นเครื่องมือที่จับปลาทูได้ครั้งละจำนวนมาก อวนตังเกมีลักษณะเป็นผืนอวน มีทั้งตาถี่ และตาห่าง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวประมาณ 220-250 เมตร อวนลึก 10-50 เมตร โดยใช้เรือ 2 ลำ ในการลากอวน โดยไต้ก๋งจะเป็นผู้มองหาฝูงปลาทู และจะหยุดเรือเพื่อสังเกตทิศทางการว่ายน้ำของปลาทูที่แน่นอน ก่อนใช้เรือทั้ง 2 ลำ วิ่งลากอวนล้อม และกั้นทิศทางการว่ายของปลา แล้งจึงนำเรือมาบรรจบกันเป็นรูปวงกลม ก่อนที่จะนำปลายอวนร้อยเข้ากับรอก และชักสายปิดปากอวนให้ปลาทูรวมกันที่ถุงอวน และยกอวนขึ้นเรือ    


ภาพที่ 3 อวนตังเก

(ที่มา : http://marinerthai.blogspot.com/2012/01/surrounding-nets.html)


        3. อวนฉลอมหรืออวนดำ
            เป็นเครื่องมือแบบเคลื่อนที่ประเภทอวนล้อม พบมากในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย นิยมเรียกว่า อวนฉลอม บางพื้นที่ เช่น สมุทรปราการ เรียกว่า อวนดำ ถือเป็นอวนจับปลาที่มีลักษณะคล้ายกับอวนตังเกมาก แต่มีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย และใช้เรือเพียงลำเดียวในการ    ลากอวน  อวนชนิดนี้สามารถใช้ได้ที่ความลึก 6-30 เมตร การจับจะจับในคืนเดือนมืดช่วงแรม 3 ค่ำ – ขึ้น 12 ค่ำ เพื่อให้สังเกตประกายของฝูงปลาในน้ำได้ง่าย การจับชาวประมงจะใช้แพไฟผูกติดกับอวนข้างหนึ่งไว้กับที่ แล้วใช้เรือแล่นทิ้งอวนล้อมรอบฝูงปลา ก่อนชักเชือกปิดอวนให้ปลารวมกันที่ถุงอวน และยกขึ้นเรือ        



    
ภาพที่ 4 อวนฉลอม
(ที่มา : http://www.thailandindustry.com/indust_newweb/onlinemag_preview.php?cid=1427)

        4. อวนติด
            เป็นอวนจับปลาที่มีขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง มีความยาวประมาณ 120-200 เมตร กว้างประมาณ 20 เมตร ตาอวนที่ 4.7-5.2 เซนติเมตร ด้านบนมีทุ่นลอยติดให้อวนลอยน้ำ การจับ ชาวประมงจะใช้เรือแจววิ่งหาฝูงปลา และวางแนวทุ่นอวนล้อมรอบฝูงปลาเพื่อกั้นทิศที่ปลาว่ายน้ำขณะล้อมอวนชาวประมงจะใช้ไม้กระทุ่มน้ำเพื่อให้ปลาวิ่งเข้าติดตาอวน ก่อนจะสาวอวนขึ้นเรือเพื่อปลดปลา


ภาพที่ 5 อวนติด
(ที่มา : http://digitalay.com/2015/11/cutting-ghost-net/)

        นอกจากนี้ยังมีการจับปลาทูที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งที่มีการจับปลาทูมากที่สุดในท้องทะเลไทย ซึ่งกว่า 30 ปีมาแล้ว สำหรับคนเมืองแม่กลองมีวิธีการจับปลาทูที่น่าสนใจ คือการจับปลาโดยวิธีละมุนละม่อม ค่อยๆต้อน ค่อยๆจับ ก่อนที่จะปล่อยให้ค่อยๆตาย เพราะจะทำให้เนื้อปลาทูจะคงความสด มัน สำหรับวิธีการ จับปลาให้ตายโดยละม่อม ชาวประมงจะใช้ โป๊ะ เครื่องมือหาปลาพื้นบ้านเป็นอุปกรณ์สำคัญในการจับปลาทู      
        โป๊ะ (พื้นบ้าน) มีขนาดเท่ากับสนามฟุตบอลขนาดย่อม ทำจากไม้ไผ่ล้อมให้เป็นวงกลม เปิดช่องเป็นทางสำหรับให้ปลาทูผ่านเข้าไปได้ ตั้งอยู่กับที่ รอให้ปลาว่ายเข้ามาหาเอง ด้วยเครื่องจับปลาชนิดนี้ ปลาทูที่จับได้มาจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ปลาโป๊ะ ในอดีตเมืองแม่กลองถือว่ารุ่งเรืองเรื่อง โป๊ะปลาทู มาก โดยมีโป๊ะมากถึงราวๆ 100 โป๊ะ แต่ว่าเมื่อวันเวลาผันผ่าน กาลเวลาเปลี่ยนแปลง โป๊ะปลาทูก็ค่อยๆลดจำนวนลงเรื่อยๆจนในปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่โป๊ะ และในไม่กี่พื้นที่เท่านั้นที่ ยังคงใช้เครื่องมือชนิดนี้ในการจับปลาทู สำหรับปลาทูที่ได้จากการจับด้วยโป๊ะจะมีความแตกต่างกับปลาทูที่จับด้วยเครื่องมือชนิดอื่นๆ เพราะปลาที่ได้จากโป๊ะจะมีความสดมากกว่า ทำให้กินอร่อยกว่า


                


  


                



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลักษณะของปลาทู

การแปรรูปปลาทู